กระถิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
กระถิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี), กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน (สมุทรสงคราม), ผักก้านถิน (เชียงใหม่), ผักหนองบก (ภาคเหนือ), กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก (ภาคกลาง), ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน (ภาคใต้) เป็นต้น
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนและในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากต้นกระถินเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายจึงพบได้ทั่วไป
จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีขนาดความสูงประมาณ 3-10 เมตร ไม่ผลัดใบ ลักษณะทรงต้นเป็นเรือนยอดรูปไข่หรือกลม เปลือกต้นมีสีเทา และมีปุ่มนูนของรอยกิ่งก้านที่หลุดร่วงไป และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือในดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี
ลักษณะ : ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ดอกช่อแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ 1-3 ช่อ ฝักแบน ปลายแหลม โคนสอบ ฝักแก่แตกตามยาวมีเมล็ด 15-30 เมล็ด สีน้ำตาลเป็นมัน รูปไข่แบนกว้าง
ประโยชน์ : ใบหมักเป็นปุ๋ย ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนใช้เป็นอาหารของวัว ควาย แพะ แกะ ไก่ ฯลฯ ยอดอ่อนและฝักอ่อนใช้กินเป็นผักได้ เมล็ดนำมาทำเป็นเครื่องประดับหลายชนิด เช่น สายสร้อย เข็มกลัด เข็มขัด ฯลฯ เปลือกให้เส้นใยสั้นใช้ทำกระดาษได้ แต่คุณภาพไม่ดี พันธุ์ที่ปรับปรุงใหม่เรียกว่ากระถินยักษ์ มีลำต้นสูงกว่าพันธุ์เดิม ปลูกเพื่อกันลมและบังแดดให้แก่พืชที่ปลูก เช่น ชา กาแฟ และใช้ทำฟืน
สรรพคุณของกระถิน
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก, เมล็ดแก่)
- กระถินมีฟอสฟอรัสสูง จึงช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูก (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ยอดอ่อน)
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ยอดอ่อน)
- กระถินอุดมไปด้วยวิตามินเอ จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้ (ยอดอ่อน)
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)
- ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ดแก่)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)
- ช่วยแก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (ดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ฝัก)
- เมล็ดกระถินใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม (Ascariasis) สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 25-50 กรัม ส่วนเด็กให้ใช้ 5-20 กรัมต่อวัน โดยใช้รับประทานขณะท้องว่างในตอนเช้าประมาณ 3-5 วัน (เมล็ด)
- ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก, เมล็ดแก่)
- ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก, เมล็ดแก่)
- ช่วยลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)
- ดอกกระถินช่วยบำรุงตับ (ดอก) ช่วยบำรุงไตและตับ (เมล็ดแก่)
- ฝักกระถินเป็นยาฝาดสมาน ใช้ห้ามเลือด (ฝัก, เปลือก)
หมายเหตุ : ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย รากมีรสจืดเฝื่อน ส่วนเปลือกมีรสฝาด
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์